PROGRAMS

โครงการของเราในประเทศไทยมีเป้าหมายเพื่อยุติการค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมาย และการบริโภคผลิตภัณฑ์จากสัตว์ป่าที่ไม่ยั่งยืน เช่น ซาก ชิ้นส่วน และผลิตภัณฑ์จากเสือโคร่ง งาช้างผิดกฎหมาย และผลิตภัณฑ์จากฉลาม โดยดำเนินโครงการรณรงค์เพื่อลดความต้องการซื้อ ใช้ และบริโภคผลิตภัณฑ์เหล่านี้ ผ่านการสื่อสารเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมและพฤติกรรม เราได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากผู้มีชื่อเสียงในหลากหลายวงการ สื่อมวลชน และพันธมิตรด้านสื่อร่วมสนับสนุนโครงการรณรงค์ของเรา นอกจากนี้เราทำงานร่วมกับผู้กำหนดนโยบาย ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย นักวิจัย และอีกหลายภาคส่วน เพื่อผลักดันให้มีมาตรการที่เหมาะสมในการปกป้องชนิดพันธุ์ที่มีความสำคัญต่อระบบนิเวศ รวมถึงการปกป้องถิ่นที่อยู่อาศัย และการติดตามการค้า

การค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมายทั่วโลก เป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ทำให้จำนวนประชากรสัตว์ป่าลดลงอย่างน่าตกใจ จนหลายชนิดกำลังเสี่ยงสูญพันธุ์ และก่อให้เกิดการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพจากการหายไปของสัตว์ป่าเหล่านี้ ประเมินว่าการค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมายทั่วโลกมีมูลค่าอยู่ระหว่าง 7,000 ล้านเหรียญดอลล่าร์สหรัฐ และ 23,000 ล้านเหรียญดอลล่าร์สหรัฐต่อปี ถือเป็นอาชญากรรมที่มีมูลค่าสูงเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก ซึ่งมักเกี่ยวข้องกับเครือข่ายอาชญากรรมข้ามชาติ ประเทศไทยมีบทบาทในฐานะประเทศต้นทาง ทางผ่าน และปลายทางของการค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมาย เนื่องจากลักษณะภูมิประเทศ เส้นทางคมนาคมทางบกและทางอากาศที่เชื่อมโยงกับทุกภูมิภาคของโลก และความต้องการบริโภค และเลี้ยงสัตว์ป่าในประเทศเพื่อนบ้านหลายประเทศ 

การทำประมงมากเกินขนาดและความต้องการผลิตภัณฑ์จากปลาฉลามและปลากระเบนทำให้หนึ่งในสามของชนิดพันธุ์ปลาฉลามและปลากระเบนกำลังเสี่ยงสูญพันธุ์ทั่วโลก การประเมินล่าสุดพบว่า มีปลาฉลามราว 76-80 ล้านตัวถูกฆ่าต่อปีทั่วโลก ในจำนวนนี้ราว 25 ล้านตัวเป็นชนิดพันธุ์ที่กำลังเสี่ยงสูญพันธุ์ ประเทศไทยมีบทบาทสำคัญต่อการค้าผลิตภัณฑ์หูฉลามในฐานะหนึ่งในผู้ส่งออกหูฉลามมูลค่าต่ำอันดับต้น ๆ ของโลก นอกจากนี้ความต้องการบริโภคปลาฉลามภายในประเทศ มีส่วนสำคัญที่ทำให้ประเทศไทยเป็นหนึ่งในตลาดบริโภคที่สำคัญ ถึงแม้ว่าปลาฉลามจะไม่ใช่สัตว์น้ำเป้าหมายหลักในการทำประมงของไทย แต่ประชากรปลาฉลามในน่านน้ำไทยมีจำนวนลดลงอย่างมากมานานแล้ว โดยปลาฉลามถูกจับโดยบังเอิญ หรือเป็นผลพลอยได้จากเครื่องมือประมงหลายประเภท