จีนปิดตลาดงาช้าง เหยา หมิงรณรงค์ซื้อ-ขายงาช้างผิดกฎหมายแล้ว

จีนปิดตลาดงาช้าง  เหยา หมิง รณรงค์ซื้อขายงาช้างผิดกฎหมายแล้ว

28 ธันวาคม 2560 – ประเทศจีน ซึ่งเป็นตลาดค้างาช้างผิดกฎหมายที่ใหญ่ที่สุดในโลก ออกกฎหมายปิดตลาดค้า งาช้างอย่างสมบูรณ์ มีผลบังคับใช้วันที่ 1 มกราคม 2561 ขณะที่องค์กรไม่แสวงผลกำไรเพื่อยุติการค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมาย ไวล์ดเอด (WildAid) เปิดตัวโฆษณารณรงค์ชิ้นใหม่ โดยมีนายเหยา หมิง อดีตนักบาสเกตบอลเอ็นบีเอชชาวจีน และทูตขององค์กรร่วมรณรงค์ให้ชาวจีนตระหนักว่า นับตั้งแต่ปีใหม่นี้การซื้อ-ขายงาช้างในจีนผิดกฎหมายแล้ว

โฆษณารณรงค์ซึ่งมีนายเหยา หมิง เป็นผู้ดำเนินเรื่อง รวมถึงบิลบอร์ดที่เปิดตัวพร้อมกันทั่วประเทศจีน จึงมีเป้าหมายเพื่อประชาสัมพันธ์ให้ชาวจีนได้ทราบถึงกฎหมายใหม่ของรัฐบาลจีน พร้อมสร้างความตระหนักแก่ชาวจีน ที่มองว่าผลิตภัณฑ์งาช้างเป็นสินค้าที่มีราคา แต่เบื้องหลังการได้มาซึ่งงาช้างที่แท้จริงมาจากการฆ่าช้างเอางาในทวีป แอฟริกาปีละมากถึง 30,000ตัว 

การที่จีนออกมาประกาศในช่วงปลายปี 2559 ว่าจะเดินหน้ายุติการค้างาช้างได้ส่งผลให้ราคาซื้อขายและการฆ่าช้างเอางา มีแนวโน้มลดลง นอกจานั้นการตรวจยึดงาช้างนำเข้าผิดกฎหมายในจีนลดลงไปถึงร้อยละ 80 รวมถึงราคาขายงาช้างดิบ ลดลงไปร้อยละ 65 ในขณะที่ความพยายามบังคับใช้กฎหมายในหลายๆ พื้นที่ในทวีปแอฟริกาและเอเชียกำลังได้ผลมากขึ้น ซึ่งนายปีเตอร์ ไนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารองค์กรไวล์ดเอด (WildAid) บอกว่านี่คือ “ก้าวที่ยิ่งใหญ่ ในการลดจำนวนช้างที่ถูกฆ่าเพื่อเอางา”

“องค์การสหประชาชาติเองก็มีมติเป็นเอกฉันท์เรียกร้องให้ประเทศต่างๆ ประกาศปิดตลาดค้างาช้างของตนเอง ซึ่งหลายประเทศดำเนินตามแล้ว เราสนับสนุนให้ประเทศญี่ปุ่น และไทย พิจารณาเปลี่ยนจุดยืน และเดินหน้าสู่การปิดตลาดค้างาช้างในประเทศ ตามทิศทางของประเทศอื่นๆในโลกเช่นกัน” นายไนท์ส กล่าวเพิ่ม

นโยบายสำคัญของรัฐบาลจีนในครั้งนี้ จะส่งผลให้โรงงานแกะสลักงาช้างและร้านค้างาช้างถึง 172 แห่ง ต้องปิดตัวลง ภายในวันที่ 31 ธันวาคมนี้

“การสั่งปิดตลาดค้างาช้างของรัฐบาลจีน มีความสำคัญต่อชีวิตช้างเป็นอย่างมาก” นายปีเตอร์ ไนท์ กล่าว “หลังจากที่สหรัฐอเมริกาก้าวถอยหลังจากการเป็นผู้มีบทบาทสำคัญต่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในระดับนานาชาติ บทบาทนำของประเทศจีนถือเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง”

ในช่วงปี 2560 ราคาผลิตภัณฑ์งาช้างทั่วประเทศจีนลดลงไป 65% จากราคาที่เคยขึ้นไปสูงสุดเมื่อปี 2557 โดยร้านค้า หลายแห่งเสนอส่วนลดอีกมากถึง 50% จากราคาที่ลดอยู่แล้ว

ในหลายๆ เมืองของจีน มีการติดประกาศลดราคาผลิตภัณฑ์งาช้างที่มีอยู่ในคลัง เนื่องจากผู้ค้ารายย่อยต้องการระบายผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่ก่อนที่การปิดตลาดค้างาช้างจะมีผลบังคับใช้อย่างจริงจัง 

นอกจากนี้ สำนักงานกิจการป่าไม้แห่งชาติของจีน หรือ State Forestry Administration รายงานว่า  การตรวจยึดงาช้างผิดกฎหมายในประเทศจีนลดลงไปถึงร้อยละ 80 ในปี 2559 เมื่อเทียบกับจำนวนการตรวจยึด หลายปีก่อนหน้า  ขณะที่เมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่ศุลกากรในเขตปกครองตนเองกว่างซียึดงาช้าง 165 กิ่ง จากครอบครัวหนึ่งในแถบชนบท โดยงาช้างจำนวนดังกล่าวมีน้ำหนักรวมกว่า 360 กิโลกรัม และมีมูลค่าสูงถึง 4.4 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 145 ล้านบาท การตรวจยึดในครั้งนั้นบ่งชี้ว่ารัฐบาลจีนใช้การสืบสวนร่วมกับหน่วยข่าวกรอง เพื่อให้การจับกุมเครือข่ายการค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมายมีประสิทธิภาพมากขึ้น มากกว่าการตรวจยึดการค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมาย ในแถบชายแดนเพียงอย่างเดียว

credit : Kristian Schmidt

เมื่อปี 2555 อดีตนักบาสเกตบอลดาวรุ่งแห่งเอ็นบีเอ เหยา หมิง ร่วมกับองค์กรไวล์ดเอด ผลิตสารคดีเกี่ยวกับการฆ่าช้าง เอางาเป็นครั้งแรก เพื่อออกอากาศทั่วประเทศจีนผ่านทางสถานีวิทยุโทรทัศน์กลางแห่งประเทศจีน หรือ ซีซีทีวี

นอกจากนี้ เหยา หมิง และองค์กรไวล์ดเอด ยังได้ร่วมมือกับองค์กร African Wildlife Foundation และองค์กร Save the Elephants เปิดตัวโครงการรณรงค์เพื่อสร้างความตระหนักต่อสาธารณชนที่ใหญ่ที่สุดโครงการหนึ่ง โดยได้รับการสนับสนุน พื้นที่สื่อฟรีจากทั้งภาครัฐและเอกชนในจีนคิดเป็นมูลค่ากว่า 180 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือเกือบ 6พันล้านบาท ระหว่างปี 2556-2559 โดยผลการสำรวจขององค์กรไวล์ดเอดในปี 2560 พบว่า ชาวจีนตระหนักว่าผลิตภัณฑ์งาช้างมีที่มาจากการฆ่าช้าง เอางาเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 70 ในช่วงห้าปีที่ผ่านมา

ในปี 2557 เหยา หมิงได้ยื่นหนังสือต่อสภาประชาชนแห่งชาติของประเทศจีนเรียกร้องให้ยุติการซื้อขายงาช้างในประเทศ และในปีเดียวกันนั้นรัฐบาลจีนก็ได้ทำลายงาช้างของกลางเป็นครั้งแรก แสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงท่าทีของรัฐบาล และด้วยความร่วมมือกันอย่างแข็งขันกับคณะทำงานของรัฐบาลอดีตประธานาธิบดีบารัค โอบามา ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ตัดสินใจประกาศจะปิดตลาดค้างาช้างในประเทศจีนเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2559

ไม่เพียงแค่เหยา หมิง แต่ยังมีศิลปิน นักแสดง ผู้มีชื่อเสียงจากหลากหลายวงการทั่วโลกร่วมสนับสนุนโครงการรณรงค์ “Ivory Free” ด้วยได้แก่ เจ้าชายวิลเลียม ดยุกแห่งเคมบริดจ์, เดวิด เบ็คแฮม, หลี่ ปิงปิง, เจย์ โชว์, หลาง หล่าง, เจียง เหวิน, ลูปิต้า เอ็นยองโก, แม็คกี้ คิว, เซอร์ริชาร์ด แบรนสัน, เอ็ดเวิร์ด นอร์ตัน, เอียน โซเมอร์ฮอลเดอร์ นักแสดงจากซีรีส์ The Vampire Diaries เป็นต้น 

สื่อรณรงค์หลากหลายประเภทที่มีทูตขององค์กรไวล์ดเอด ได้ถูกเผยแพร่อย่างกว้างขวางในประเทศจีน ผ่านเครือข่ายวิทยุ โทรทัศน์กว่า 25 แห่ง รวมทั้งสื่อวีดิทัศน์กลางแจ้ง โรงภาพยนตร์ และบิลบอร์ดหลายพันแห่งครอบคลุมกว่า 20 เมืองใหญ่ในประเทศจีน 

นอกจากประเทศจีนแล้ว หลายประเทศก็ดำเนินมาตรการต่างๆ ที่อาจนำไปสู่การปิดตลาดค้างาช้างในประเทศของตน เช่นเดียวกัน

  • สหรัฐอเมริกาได้เริมกระบวนการยุติการซื้อขายงาช้างในประเทศแล้ว
  • สภานิติบัญญัติฮ่องกงได้ทำการทบทวนร่างแผนดำเนินการปิดตลาดค้างาช้างของรัฐบาล และคาดว่าจะทราบผล การลงคะแนนเสียงร่างแผนดังกล่าวเป็นขั้นตอนสุดท้ายในต้นปี 2561
  • รัฐบาลสิงคโปร์ได้ประกาศว่ากำลังพิจารณาแผนการปิดตลาดค้างาช้างในประเทศอย่างสมบูรณ์
  • ไต้หวันกำลังทบทวนตัวบทกฎหมายและดำเนินการปราบปรามผู้ค้างาช้างผิดกฎหมาย บ่งชี้ว่าไต้หวันเตรียมจะประกาศปิดตลาดค้างาช้างให้ได้ในปี 2563
  • สำหรับประเทศไทย รัฐบาลได้เข้มงวดในการบังคับใช้กฎหมาย รวมถึงออกพระราชบัญญัติงาช้างเพื่อควบคุม การค้างาช้างในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา และตั้งแต่พระราชบัญญัติงาช้างมีผลบังคับใช้ มีร้านค้างาช้างร้อยละ 42 (91ร้าน) ได้ยื่นขอยกเลิกการค้างาช้างด้วยความสมัครใจนับจนถึงกลางปี 2560 และการซื้อขายงาช้างถูกกฎหมายที่ได้ขึ้น ทะเบียนแล้วก็ลดลงไปร้อยละ 58 เปรียบเทียบกับกลางปี 2559 นอกจากนี้ผู้ค้างาช้างที่มีใบอนุญาตใน กรุงเทพมหานครต่างรายงานว่า ไม่มีการสั่งซื้อผลิตภัณฑ์งาช้างเพิ่มเติมจากผู้ครอบครองงาช้างรายอื่นเลย ในช่วงสองปีที่ผ่านมา
  • ประเทศเวียดนามเองก็ได้มีการแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับการค้าผลิตภัณฑ์สัตว์ป่า รวมถึงงาช้าง ให้เข้มงวดขึ้น ทั้งเพิ่มอัตราค่าปรับและบทลงโทษ ซึ่งรวมถึงโทษจำคุกสูงสุด 15 ปี สำหรับการลักลอบนำเข้าผลิตภัณฑ์งาช้าง น้ำหนักตั้งแต่ 90 กิโลกรัมขึ้นไป โดยตั้งแต่เดือนตุลาคม 2559 หน่วยงานบังคับใช้กฎหมายได้ทำการยึดงาช้างนำเข้า ผิดกฎหมายได้หลายครั้ง รวมเป็นน้ำหนักมากถึง 12 ตัน

สหภาพนานาชาติเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติและทรัพยากรธรรมชาติ หรือ IUCN ได้ประเมินว่าประชากรช้างแอฟริกัน ได้ลดลงไปมากถึง 111,000 ตัวในช่วงสิบปีที่ผ่านมา โดยถึงแม้ว่าแนวโน้มการฆ่าช้างแอฟริกันจะลดต่ำลงจากจุดสูงสุดเมื่อปี 2554 แต่ก็ยังคงอยู่ในระดับที่สูงมาก หากมองในภาพรวมของทวีป โดยคาดว่าประชากรช้างแอฟริกันโดยรวมจะลดลงอีกในปี 2559

ในขณะที่ฝั่งแอฟริกาตะวันออกพยายามดำเนินมาตรการอย่างหนักเพื่อลดจำนวนช้างที่ถูกฆ่าลงให้อยู่ระดับเดียวกับช่วงก่อนปี 2551 แต่ทว่าอัตราการฆ่าช้างป่าในแอฟริกากลางยังคงสูงมาก ซึ่งก่อให้เกิดการสูญเสียประชากรช้างอย่างน่าเป็นห่วง ในภูมิภาคดังกล่าวในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา โดยผลการสำรวจโดยกองทุนสัตว์ป่าโลก หรือ WWF พบว่า ระหว่างปี 2551 ถึงปี 2559 ประชากรช้างแอฟริกาได้ลดลงไปถึงร้อยละ 66 ในแถบประเทศแคเมอรูน สาธารณรัฐคองโก สาธารณรัฐแอฟริกากลาง และประเทศกาบอง  

ลำดับเหตุการณ์สำคัญก่อนจีนปิดตลาดค้างาช้าง:

25 กุมภาพันธ์ 2558 : จีนประกาศห้ามนำเข้างาช้างแกะสลักที่มาจากประเทศในทวีปแอฟริกาเป็นเวลา 1 ปี

26 กันยายน 2558 : ประธานาธิบดีสี จิ้นผิงประกาศระหว่างการเยือนประเทศสหรัฐอเมริกาว่า จีนจะดำเนินการเพื่อค่อยๆ ปิดตลาดค้างาช้างในประเทศ

15 ตุลาคม 2558 : จีนประกาศห้ามนำเข้างาช้างที่ได้มาจากกีฬาล่าสัตว์ในทวีปแอฟริกาเป็นเวลา 1 ปี

22 มีนาคม 2559 : จีนประกาศขยายเวลาการห้ามนำเข้างาช้างไปจนถึง 31 ธันวาคม 2562

31 ธันวาคม 2559 : จีนประกาศว่าจะปิดตลาดค้างาช้างในประเทศอย่างสมบูรณ์ภายใน 1 ปี

31 มีนาคม 2560 : โรงงานแกะสลักงาช้างถูกกฎหมายและร้านค้างาช้างรวม 67 แห่งในจีนปิดตัวลง

31 ธันวาคม 2560 : โรงงานแกะสลักงาช้างถูกกฎหมายและร้านค้างาช้างที่เหลือรวม 105 แห่งปิดตัวลง   

ใส่ความเห็น

Your email address will not be published. Required fields are marked (required)