ไวล์ดเอด-ไทยรัฐทีวี เปิดตัว ‘ทอล์กนี้เพื่อเปลี่ยน’ ทบทวนระยะห่างมนุษย์-สัตว์ป่าจากโควิด-19

องค์กรไวล์ดเอดและไทยรัฐทีวี เปิดตัว ‘ทอล์กนี้เพื่อเปลี่ยน’ ทบทวนระยะห่างมนุษย์-สัตว์ป่าจากโควิด-19

องค์กรไวล์ดเอด ร่วมกับ ไทยรัฐทีวี เปิดตัว “ทอล์กนี้เพื่อเปลี่ยน’ รายการออนไลน์ 4 ตอน สร้างความเข้าใจและเชื่อมโยงให้เห็นถึงความเสี่ยงที่เกิดจากกิจกรรมของมนุษย์ที่มีต่อสุขภาพของมนุษย์เอง เพื่อลดความเสี่ยงการเกิดโรคระบาดแบบโควิด-19 ในอนาคต

การวิจัยพบว่า 71% ของโรคติดต่ออุบัติใหม่ในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา ตั้งแต่อีโบลา เมอร์ส ซาร์ส นิปาห์ มีที่มาจากสัตว์ป่า เช่นเดียวกับ โควิด-19 ที่นักวิทยาศาสตร์สันนิษฐานว่าเชื้อไวรัสข้ามจากค้างคาวที่เป็นแหล่งรังโรคสู่สัตว์ตัวกลางก่อนที่จะระบาดสู่คน โดยมีปัจจัยเร่งให้เกิดการแพร่ระบาดจากการที่มนุษย์และสัตว์สัมผัสกันใกล้ชิด ทั้งจากกระบวนการค้าสัตว์ป่า และที่ถิ่นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าถูกทำลาย การทบทวนระยะห่างระหว่างมนุษย์และสัตว์ป่าจึงสำคัญยิ่ง

เนื้อหาตอนแรก ‘ห่างอีกสักนิดมนุษย์-สัตว์ป่า’ มุ่งสร้างความเข้าใจที่มาของโรคระบาดจากสัตว์สู่คนในอดีต และเชื่อมโยงให้เห็นว่าปัจจัยหลายๆ อย่างจากกิจกรรมของมนุษย์ เช่น ความต้องการผลิตภัณฑ์สัตว์ป่า ทั้งจากการบริโภค การซื้อ ใช้ผลิตภัณฑ์รวมไปถึงการเลี้ยงสัตว์ป่าผิดกฎหมาย ทำให้คนต้องสัมผัสใกล้ชิดกับสัตว์ป่ามากขึ้น และความต้องการเหล่านี้เพิ่มความเสี่ยงที่เชื้อโรคจะแพร่จากสัตว์สู่คน โดยมีคุณโน้ต วัชรบูล ลี้สุวรรณ นักแสดงและทูตองค์กรไวล์ดเอด ที่สั่งสมมุมมองต่อปัญหาสิ่งแวดล้อมไทยจากความชื่นชอบในการเดินป่า และถ่ายภาพสัตว์ป่ามากว่า 10 ปี และ ทนพ. ภาคภูมิ เดชหัสดิน นักเทคนิคการแพทย์เจ้าของเพจหมอแล็บแพนด้า เป็นผู้ร่วมทอล์ก และมีคุณจอมขวัญ หลาวเพ็ชร์ พิธีกรรายการถามตรงๆ ทางไทยรัฐทีวี เป็นผู้ดำเนินรายการ

“ถ้าการเว้นระยะห่างหมายถึง การไม่ไปล่า ไม่กิน ไม่เอาเขามาเลี้ยง ไม่ไปทำลายบ้านเขา ผมเห็นด้วย ปล่อยให้สัตว์ป่าอยู่ในที่ของเขา แต่ขณะเดียวกันผมกลับมองว่า เราไม่ควรจะทิ้งระยะห่างจนเกินไป มีระยะห่างที่พอเหมาะ เราควรทำความรู้จักและเข้าใจชีวิตของสัตว์ป่าว่า เขาอาศัย หากินในธรรมชาติและมีประโยชน์ต่อระบบนิเวศอย่างไร ถ้าเรารู้ถึงคุณค่าของเขา เราก็จะไม่ทำลายเขา เราก็จะปล่อยให้เขาอยู่ในที่ของเขาตามธรรมชาติ ให้เขาสร้างประโยชน์ต่อระบบนิเวศของโลกใบนี้” คุณโน้ต วัชรบูล ลี้สุวรรณ ทูตองค์กรไวล์ดเอดกล่าว  

ปัจจุบันคุณวัชรบูล เป็นกรรมการมูลนิธิสืบนาคะสเถียร และจากนี้จะร่วมเป็นกระบอกเสียงช่วยรณรงค์ให้คนทั่วไปเห็นความสำคัญของการปกป้องสิ่งแวดล้อมที่รวมถึงสัตว์ป่าในฐานะทูตองค์กรไวล์ดเอดด้วย 

ผู้เชี่ยวชาญด้านไวรัสประเมินว่า ในบรรดาไวรัส 1.6ล้านชนิดที่คาดว่าพบในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมและนก มีไวรัสราว 700,000 ชนิดที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดในคน ด้าน ทนพ. ภาคภูมิ เดชหัสดิน นักเทคนิคการแพทย์ ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย เจ้าของเพจหมอแล็บแพนด้า เพจด้านสุขภาพชื่อดังในโซชียล มีเดีย กล่าวว่า “เชื้อโรคใช้เวลาพัฒนาตัวเองไปเรื่อยๆ หนีวัคซีน หนีสิ่งแวดล้อม หนียารักษาโรค ถ้าเรานำตัวเองไปเสี่ยงคลุกคลีกับเชื้อโรคเรื่อยๆ มันจะใช้เวลาประมาณ 5-10 ปี ถึงจะมีโรคอุบัติใหม่ขึ้น และส่วนใหญ่มาจากสัตว์ทั้งสัตว์ป่าและสัตว์เลี้ยง ตั้งแต่อีโบลา ซารส์ เมอร์ส ไข้หวัดหมู จนมาถึงกระสุนลูกล่าสุด คือ โควิด-19  เราถูกเตือนมาหลายครั้งแล้วว่า มนุษย์ควรรักษาระยะห่างระหว่างคนและสัตว์ป่าอย่างยั่งยืน ไม่ไปกวนที่อยู่อาศัยของเขาในธรรมชาติ เคารพและปฏิบัติตามกฎระเบียบการอยู่ร่วมกันกับธรรมชาติที่มีอยู่แล้วก่อนหน้าโควิด-19 อย่างจริงจัง” 

นายวัชร วัชรพล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารธุรกิจ ไทยรัฐทีวีและไทยรัฐออนไลน์ กล่าวถึงความร่วมมือผลิตรายการ “ทอล์กนี้เพื่อเปลี่ยน” กับองค์กรไวล์ดเอดว่า “ไทยรัฐทีวีและออนไลน์ยืนหยัดที่จะเป็นผู้นำในการผลิตและนำเสนอเนื้อหาประเด็นเร่งด่วนของสังคมไทย โดยเฉพาะเนื้อหาที่ครอบคลุมทุกแง่มุมที่เกี่ยวข้องกับการระบาดของโควิด-19 โดยไทยรัฐผลิตและเผยแพร่รายการออนไลน์ร่วมกับองค์กรไวลด์เอด ผ่านทางช่องทางออนไลน์และโซเขียลมีเดียที่แข็งแกร่งของเรา เพื่อสร้างความตระหนักรู้ให้คนไทยเห็นความสำคัญของการดูแลปกป้องธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมรวมถึงสัตว์ป่า เพื่อป้องกันโรคติดต่ออุบัติใหม่ในอนาคต ถึงเวลาที่เราต้องทบทวนและมองไปข้างหน้าร่วมกัน เพราะ New Normal ระหว่างมนุษย์ สิ่งแวดล้อมและสัตว์ป่าเป็นเรื่องที่ไม่อาจละเลยได้อีกต่อไป”  

รายงานล่าสุดปี 2563 ของ WWF หรือองค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล ที่สำรวจคนไทยหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19  เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา พบคนไทยราว 15% บอกว่า ในรอบ 12 เดือนที่ผ่านมา เคยมีบุคคลใกล้ชิดเกี่ยวข้องกับการซื้อขายสัตว์ป่า กว่า 90% สนับสนุนให้รัฐบาลยุติตลาดซื้อขายสัตว์ป่า ขณะที่อีก 79% เชื่อว่าการปิดตลาดจะเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคอีกในอนาคต

องค์กรไวล์ดเอด ทำงานรณรงค์ด้านการลดความต้องการผลิตภัณฑ์สัตว์ป่าเพื่อยุติการค้าสัตว์ป่าทั้งในเอเชีย และแอฟริกามาเป็นเวลา 20 ปีแล้ว การแพร่ระบาดของโควิด-19 สะท้อนให้เห็นความจำเป็นของการสร้างความเข้าใจต่อสาธารณชนว่าการปกป้องสิ่งแวดล้อมที่รวมถึงสัตว์ป่า เท่ากับการปกป้องสุขภาพของมนุษย์  “การได้รับความอนุเคราะห์ผลิตรายการออนไลน์กับไทยรัฐทีวี ทำให้เราสื่อสารประเด็นเร่งด่วนไปยังสาธารณชนได้อย่างกว้างขวาง ในประเทศไทยเราจะมุ่งเน้นให้ความเข้าใจเรื่องความเสี่ยงด้านสาธารณสุขจากการกิน ล่า ค้า และเลี้ยงสัตว์ป่าผิดกฎหมาย โดยจะทำงานร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ บุคคลที่มีชื่อเสียง และสื่อเพื่อสนับสนุนการแก้ปัญหาค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมายที่รัฐบาลกำลังทำอยู่ต่อไป” มร. จอห์น เบเกอร์ ผู้อำนวยการโครงการรณรงค์ องค์กรไวล์ดเอด กล่าว

รายการออนไลน์ ‘ทอล์กนี้เพื่อเปลี่ยน’ จัดขึ้นเดือนละ 1 ครั้งไปจนถึงเดือนกันยายน รวม 4 ตอน รับชมตอนแรก ‘ห่างอีกสักนิดมนุษย์-สัตว์ป่า’ ย้อนหลังได้ทางเฟซบุ้ค ThairathTV และ WildAidThailand  ช่องยูทูบของ Thairath  และติดตามรายละเอียดตอนที่ 2 ได้ทางเฟซบุ้คเพจ WildAidThailand และ ThairathTV เร็วๆนี้

ใส่ความเห็น

Your email address will not be published. Required fields are marked (required)