“องค์กรอนุรักษ์ยื่นหนังสือชวนรัฐสภา #ฉลองไม่ฉลาม  เลิกเสิร์ฟเมนูฉลามในทุก ๆ โอกาส”

กรุงเทพฯ (13 มีนาคม 2567) –องค์กรไวล์ดเอด (WildAid) และมูลนิธิรักสัตว์ป่า ยื่นหนังสือ เปิดผนึกถึงประธานรัฐสภา ผ่านนายแพทย์ทศพร เสรีรักษ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดแพร่ และประธานกรรมาธิการสาธารณสุข ที่อาคารรัฐสภา เพื่อขอความร่วมมือรัฐสภาร่วมกันสร้าง บรรทัดฐานใหม่ด้วยการ ‘ฉลองไม่ฉลาม’ เลิกเสิร์ฟหูฉลามในรัฐสภา และงานเลี้ยงทางราชการ ในทุก ๆ โอกาส หลังจากได้รับทราบข้อมูลที่เชื่อถือได้ว่า ซุปหูฉลามเป็นหนึ่งในรายการอาหาร ที่จัดเลี้ยงให้กับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันพุธที่ 28 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา 

เนื้อหาในหนังสือเปิดผนึก ระบุถึงข้อความในสื่อสังคมออนไลน์เฟซบุ๊ก นายแพทย์ทศพร เสรีรักษ์ เมื่อวันพฤหัสที่ 29 กุมภาพันธ์ 2567  มีเนื้อหาว่า “ในทะเลมีฉลาม ในสภามี… คุณคิดว่าสภาควรจัด หูฉลามให้สส. กินกันไหม #งดเลี้ยงอาหารสส.สว. เถอะครับ” จนเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ถึงความ ไม่เหมาะสม

ทั้งสององค์กร ในฐานะองค์กรที่ดำเนินโครงการเพื่ออนุรักษ์ฉลาม ต้องการสร้างความตระหนักต่อรัฐสภาถึงผลกระทบของการบริโภคเมนูที่ทำจากฉลาม ทั้งนี้การเสิร์ฟเมนูหูฉลามเป็นการสนับสนุนการบริโภคสัตว์ที่มีความสำคัญต่อระบบนิเวศในทะเล ซึ่งความต้องการบริโภคเป็น 1 ในภัยคุกคามหลักที่ทำให้ประชากรฉลามทั่วโลกมีจำนวนลดลง และหลายชนิดพันธุ์กำลังเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ ในขณะที่รัฐบาลของประเทศผู้บริโภคที่สำคัญของโลกอย่างประเทศจีนได้ประกาศจุดยืนยกเลิกการเสิร์ฟเมนูหูฉลามในงานเลี้ยงของรัฐบาลมานานกว่า 10 ปีแล้ว 

“การรณรงค์ #ฉลองไม่ฉลาม ตลอด 6 ปีที่ผ่านมาทำให้เราเห็นว่า คนไทยเริ่มตระหนักว่าการทาน หูฉลาม และเมนูฉลามต่าง ๆ เป็นการบริโภคที่ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน เพราะย่อมส่งผลกระทบถึงความสมดุลของท้องทะเลในที่สุด หลายปีมานี้ประเทศไทยกำลังเป็นตัวอย่างที่ดีของความพยายามในการอนุรักษ์ฉลาม อย่างเช่น โครงการติดตามประชากรฉลามครีบดำในอ่าวมาหยา ซึ่งเป็นจุดที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก และได้นำไปสู่มาตรการเพื่อแบ่งปันพื้นที่ร่วมกันระหว่างนักท่องเที่ยวและปลาฉลาม เราจึงอยากเห็นรัฐสภาซึ่งถือเป็นตัวแทนของประชาชน เป็นต้นแบบที่ดีในการปกป้องสัตว์ที่มีความสำคัญต่อท้องทะเล รวมไปถึงส่งเสริมการบริโภคอย่างยั่งยืนที่ไม่รบกวนและคุกคามธรรมชาติ” ดร.เพชร มโนปวิตร ที่ปรึกษาองค์กรไวล์ดเอดและนักวิทยาศาสตร์ด้านการอนุรักษ์ กล่าว

ผลวิจัยดีเอ็นเอในผลิตภัณฑ์หูฉลามที่ขายในประเทศไทย โดยองค์กรไวล์ดเอด ร่วมกับทีมนักวิจัย สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) นักวิจัยอิสระ และกรมประมง พบว่า ชนิดพันธุ์ฉลามส่วนใหญ่ (62%) ที่พบในหูฉลามที่ขายในไทย มาจากปลาฉลามที่มี สถานภาพเสี่ยงสูญพันธุ์ ตามบัญชีแดงของ IUCN Red List ซึ่งเป็นการยืนยันว่า ผู้บริโภค ซุปหูฉลามอาจกำลังกินฉลามที่เสี่ยงสูญพันธุ์

การมีอยู่ของฉลามในทะเลมีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะช่วยให้ระบบนิเวศทำงานได้ตามปกติ แต่งานวิจัยล่าสุดระบุว่า แต่ละปี มีปลาฉลามราว 80 ล้านตัวถูกฆ่า ในจำนวนนี้ราว 25 ล้านตัว หรือ 1 ใน 3 เป็นปลาฉลามที่กำลังเสี่ยงสูญพันธุ์ โดยภัยคุกคามหลักเกิดจากการทำประมงเกินขนาด และความต้องการบริโภค 

ผลการสำรวจความต้องการบริโภคหูฉลามของคนไทยในเขตเมืองทั่วประเทศจากกลุ่มตัวอย่าง  จำนวน 1,007 คน พ.ศ. 2566 โดยองค์กรไวล์ดเอดและบริษัทวิจัยแรพพิด เอเชีย (Rapid Asia) พบว่า คนไทยในเขตเมืองบริโภคหูฉลามบ่อยที่สุดในร้านอาหารกับครอบครัว (60%) ตามด้วย งานแต่งงาน (57%) สังสรรค์กับเพื่อนในร้านอาหาร (46%) และงานรวมญาติในช่วงเทศกาล ตรุษจีน (42%) 

แม้ผลสำรวจล่าสุดจะพบว่า การบริโภคหูฉลามของคนไทยในเขตเมืองมีแนวโน้มลดลงในช่วง 6 ปีที่ผ่านมา แต่ยังมีคนไทยมากกว่าครึ่ง (56%) ที่ต้องการบริโภคหูฉลามในอนาคต บ่งชี้ว่า ประเทศไทยยังคงเป็นตลาดผู้บริโภคหูฉลามที่สำคัญ

“เราเห็นการปรับเปลี่ยนนโยบายที่มุ่งสู่การยกเลิกการบริโภคหูฉลามในหลายภาคส่วนทั่วโลก รวมถึงภาคเอกชนในไทยเป็นเวลานานแล้ว โครงการ Fin Free Thailand ซึ่งริเริ่มในปีพ.ศ. 2556 ได้รับความสนใจและการสนับสนุนเป็นอย่างดีจากเครือโรงแรมขนาดใหญ่ ซูเปอร์มาร์เก็ต และร้านอาหารชั้นนำ โดยธุรกิจที่เข้าร่วมโครงการได้ให้คำมั่นที่จะยกเลิกการเสิร์ฟเมนูหูฉลาม ในธุรกิจของตนจนถึงทุกวันนี้ เราขอเรียกร้องให้รัฐสภาร่วมตามรอยรัฐบาลประเทศต่าง ๆ ที่แสดงจุดยืนเลิกเสิร์ฟหูฉลามก่อนหน้านี้ เพื่อสนับสนุนแนวทางความยั่งยืนเพื่อเป็นแบบอย่างที่ดี ต่อสาธารณชนและเป็นผลดีต่อสิ่งแวดล้อม” แนนซี่ ลินน์ กิ๊บสัน ผู้ก่อตั้งมูลนิธิรักสัตว์ป่า และผู้ร่วมก่อตั้งโครงการ Fin Free Thailand กล่าว

องค์กรไวล์ดเอด และมูลนิธิรักสัตว์ป่า จึงขอความร่วมมือรัฐสภาเป็นผู้นำในการปกป้องทรัพยากร ทางทะเล เป็นแบบอย่างที่ดีต่อคนไทย และสร้างภาพลักษณ์แง่บวกในระดับนานาชาติด้วยการ แสดงจุดยืนไม่บริโภค ไม่เสิร์ฟเมนูฉลามในรัฐสภา และงานเลี้ยงทางราชการในทุก ๆ โอกาส เพราะการจัดเลี้ยง หรืองานสังสรรค์ไม่ว่าในโอกาสใด ไม่ควรมีฉลามเป็นเมนูบนโต๊ะอาหารอีกต่อไป 

ใส่ความเห็น

Your email address will not be published. Required fields are marked (required)